Bosnia and Herzegovina

บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา


http://a

     บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเป็นประเทศในตอนกลางค่อนไปทางตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่านและเคยรวมอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย(Socialist Federal Republic of Yugoslavia) มาก่อน แต่ใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ได้แยกตัวออกเป็นประเทศเอกราช บอสเนียมีเนื้อที่มากกว่าเฮอร์เซโกวีนา ๓ เท่า และกรุงซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่จุดชนวนของการเกิด “มหาสงคราม” (Great War) หรือสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔
     ดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมืองอิลลิเรียน (Illyrians) เชื้อสายอินโดยูโรเปียนและเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันมาก่อน ในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ พวกสลาฟเข้ามาตั้งถิ่นฐานและกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ พวกสลาฟได้จัดรูปการปกครองดินแดนเป็นเคาน์ตี (county) และดัชชี(duchy) จำนวนมาก ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ราชอาณาจักรเซอร์เบีย (Serbia) และราชอาณาจักรโครเอเชีย (Croatia) เข้ายึดครองบอสเนียตามลำดับหลัง ค.ศ. ๑๐๑๘ บอสเนียเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (ByzantineEmpire) และพลเมืองในบอสเนียได้หันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายออร์ทอดอกซ์ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ ราชอาณาจักรฮังการี ขยายอำนาจเข้ามาในบอสเนียและขุนนางท้องถิ่นได้ยอมรับกษัตริย์ฮังการี เป็นประมุขใน ค.ศ. ๑๑๓๗ ต่อมาใน ค.ศ.๑๓๘๖ พวกเติร์กได้ยกทัพเข้ารุกรานบอสเนียซึ่งนำไปสู่สงครามอันนองเลือดหลายครั้ง และใน ค.ศ. ๑๔๖๓ บอสเนียก็ตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) เป็นเวลากว่า ๔๐๐ ปี
     ส่วนเฮอร์เซโกวีนาภายหลังจากที่จักรวรรดิโรมัน (ตะวันตก) ล่มสลายก็เป็นอาณาจักรอิสระจนถึง ค.ศ. ๑๒๘๔ แต่ต่อมาตกอยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักรเซอร์เบีย และราชอาณาจักรบอสเนีย ในช่วงที่พวกเติร์กรุกรานบอสเนีย เฮอร์เซโกวีนาเห็นเป็นโอกาสแยกตัวออกจากบอสเนียโดยมีฐานะเป็นดัชชีเฮอร์เซโกวีนาและมีอำนาจอธิปไตยระหว่าง ค.ศ. ๑๔๓๕-๑๔๘๒ แต่ใน ค.ศ. ๑๔๘๒ ก็ถูกจักรวรรดิออตโตมันยึดครองและต่อมาถูกรวมเข้ากับบอสเนีย
     ในช่วงเวลากว่า ๔๐๐ ปีที่ตกอยู่ใต้อำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเป็นชุมทางการค้าและเมืองหน้าด่านที่สำคัญของจักรวรรดิ และในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ก็เป็นดินแดนที่ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg) และสาธารณรัฐวินีเชีย (Venetia) หรือเวนิสต่างพยายามเข้ายึดครองซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่างกันหลายครั้ง ชาวสลาฟบอสเนียส่วนใหญ่ได้หันมานับถือศาสนาอิสลามซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของพลเมืองซึ่งทำให้พวกเซิร์บและโครแอต(Croat) ไม่สามารถเข้าผสมกลมกลืนได้ ชาวมุสลิมบอสเนียได้พัฒนาลักษณะเฉพาะของขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของตนเข้ากับวัฒนธรรมอิสลามและสลาฟจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สุเหร่าที่งดงามและหลากหลายรูปแบบซึ่งสร้างขึ้นในสมัยต่าง ๆ เป็นสถาปัตยกรรมผสมที่สะท้อนให้เห็นถึงความงามเฉพาะตัวของพวกมุสลิมบอสเนีย นอกจากนี้ศาสนาอิสลามยังเปิดทางให้ชาวบอสเนียมีส่วนร่วมในการบริหารการปกครองตนเองและเข้ารับราชการในกองทัพและราชสำนักทั้งมีบทบาทสำคัญในวงการศึกษา ส่วนชาวบอสเนียที่ไม่ยอมนับถือศาสนาอิสลามจะกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่มีหน้าที่ต้องรับใช้และตอบสนองความต้องการของชาวมุสลิมที่เป็นนาย ต้องเสียภาษีอย่างหนักและมีชีวิตอยู่ใต้กฎระเบียบทางสังคมอันเข้มงวดทั้งถูกบังคับให้เป็นชาวนาทำงานผลิตอาหารเลี้ยงดูชาวเมืองและกองทัพชาวคริสต์บอสเนียจำนวนไม่น้อยจึงอพยพหนีไปตั้งรกรากในดินแดนส่วนอื่น ๆ ของคาบสมุทรบอลข่าน
     เมื่อจักรวรรดิออตโตมันเริ่มอ่อนแอลงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ชาวบอสเนียสลาฟได้ก่อกบฏขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๕ เพื่อแยกตนเป็นอิสระจากการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน ในขณะนั้น ขบวนการรวมกลุ่มสลาฟ (Pan-Slavism)ซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะส่งเสริมให้ชาวสลาฟที่อยู่ใต้การปกครองของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันตั้งตนเป็นอิสระกำลังแพร่หลาย พลเมืองชาวสลาฟในภาคตะวันออกและภาคใต้ของจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี (Austria-Hungary)ได้แสดงท่าทีจะช่วยเหลือการก่อกบฏของชาวสลาฟในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาต่อมาเซอร์เบีย มอนเตเนโกร (Montenegro) และบัลแกเรีย (Bulgaria) ก็ก่อการกบฏต่อสุลต่านเช่นกัน แต่ถูกกองทัพของสุลต่านปราบอย่างทารุณ เจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมันจึงเชิญผู้แทนของจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี และรัสเซีย ซึ่งเป็นภาคีของสันนิบาตสามจักรพรรดิ(Dreikaiserbund; League of the Three Emperors) มาประชุมกันที่กรุงเบอร์ลินเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรบอลข่าน ที่ประชุมลงมติให้ส่งบันทึกแห่งเบอร์ลิน (Berlin Memorandum)ซึ่งเป็นโครงการที่จะปรับปรุงการปกครอง ของสุลต่านไปยังมหาอำนาจต่าง ๆ ในยุโรปต่อมาอังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรีย -ฮังการี เยอรมนี และรัสเซีย ได้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๖เพื่อพิจารณาแนวดำเนินการตามบันทึกดังกล่าวและเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน
     ในระหว่างการประชุม เสนาบดีว่าการต่างประเทศของจักรวรรดิออตโตมันซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแถลงว่าสุลต่านได้ประทานรัฐธรรมนูญแล้ว อันจะเป็นขั้นต้นในการปรับปรุงการปกครอง ผู้แทนของประเทศต่าง ๆ จึงเดินทางกลับประเทศของตนเพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องประชุมต่อไป ต่อมา ปรากฏว่าสุลต่านยกเลิกรัฐธรรมนูญ รัสเซีย ซึ่งถือว่าตนเป็นผู้พิทักษ์พวกคริสเตียนและชนเผ่าสลาฟจึงประกาศสงครามต่อจักรวรรดิออตโตมันเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๗๗สงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของรัสเซีย จักรวรรดิออตโตมันต้องทำสนธิสัญญาซานสเตฟาโน (Treaty of San Stefano) กับรัสเซีย เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ซึ่งเปิดโอกาสให้รัสเซีย เข้าไปมีอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่านและนำไปสู่การจัดตั้งบัลแกเรีย เป็นรัฐอิสระ แต่อังกฤษและออสเตรีย -ฮังการี ซึ่งต้องการแสวงผลประโยชน์ในคาบสมุทรบอลข่านทักท้วงสนธิสัญญาฉบับนี้ เพราะการที่บัลแกเรีย เป็นรัฐใหญ่จะทำให้จักรวรรดิออตโตมันควบคุมได้ยาก บิสมาร์คพยายามแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยการเชิญมหาอำนาจให้มาประชุมกันที่กรุงเบอร์ลินระหว่างวันที่ ๑๓ มิถุนายนถึงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ผลของการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congressof Berlin) ทำให้สนธิสัญญาซานสเตฟาโนถูกยกเลิกและบิสมาร์คสามารถเกลี้ยกล่อมให้รัสเซีย กับอังกฤษซึ่งสนับสนุนจักรวรรดิออตโตมันทำความตกลงกันได้ รัสเซีย และจักรวรรดิออตโตมันจึงร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาเบอร์ลิน (Treaty of Berlin) เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๘
     สาระสำคัญข้อหนึ่งของสนธิสัญญาเบอร์ลินคือ ให้จักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี อารักขามณฑลบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาซึ่งยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันอยู่ แต่ในทางปฏิบัติออสเตรีย -ฮังการี กลับเข้าปกครองเสมือนหนึ่งเป็นเมืองขึ้นของตน จึงเป็นการลดอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันให้เหลือเพียงในนามเท่านั้น นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ รัสเซีย กับออสเตรีย -ฮังการี ยังทำความตกลงลับโดยรัสเซีย จะไม่ขัดขวางออสเตรีย -ฮังการี ในการผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ในอนาคต และออสเตรีย -ฮังการี จะสนับสนุนรัสเซีย ให้ก่อตั้งบัลแกเรีย เป็นรัฐใหญ่โดยผนวกมณฑลอีสเทิร์นรูมีเลีย (Eastern Rumelia) เข้ากับรัฐบัลแกเรีย
     ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๘พวกเติร์กหนุ่ม (Young Turk) ก่อการปฏิวัติขึ้นในกรุงคอนสแตนติโนเปิ ลและจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวทำให้ออสเตรีย -ฮังการี เข้ายึดครองบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๘เพราะเกรงว่ารัฐบาลตุรกีใหม่จะเข้ามามีอิทธิพลในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและเพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนการรวมกลุ่มชาติสลาฟซึ่งมีเซอร์เบีย เป็นผู้นำดำเนินการเคลื่อนไหวในพวกสลาฟบอสเนีย การยึดครองครั้งนี้ได้นำไปสู่ิวกฤตการณ์บอสเนีย(Bosnian Crisis) ค.ศ. ๑๙๐๘ เพราะทั้งรัสเซีย และเซอร์เบีย ต่อต้านมากและเซอร์เบีย เรียกร้องให้ออสเตรีย -ฮังการี คืนดินแดนดังกล่าวแก่เซอร์เบีย เยอรมนี ซึ่งเป็นพันธมิตรของออสเตรีย -ฮังการี จึงประกาศสนับสนุนการยึดครองบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาและพร้อมจะใช้กำลังทหารตัดสินในกรณีที่เซอร์เบีย ยังคงยืนยันข้อเรียกร้อง ให้คืนดินแดน รัสเซีย ซึ่งสนับสนุนเซอร์เบีย และไม่พร้อมที่จะก่อสงครามกับเยอรมนี และออสเตรีย - ฮังการี จึงยอมเปิดการเจรจาลับกับเยอรมนี ในเดือนมีนาคมค.ศ. ๑๙๐๙ และยอมรับรองการผนวกบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาของออสเตรีย -ฮังการี ส่วนออสเตรีย -ฮังการี ก็จะยอมให้รัสเซีย ใช้น่านน้ำในช่องแคบบอสพอรัส(Bosporus) และดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles) ได้ แม้ิวกฤตการณ์บอสเนียจะยุติลงโดยปราศจากสงครามแต่ก็สร้างความร้าวฉานขึ้นระหว่างเซอร์เบีย กับออสเตรีย -ฮังการี และก่อความขุ่นเคืองให้แก่รัสเซีย พวกเซิร์บในบอสเนียก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองของออสเตรีย -ฮังการี เป็นระยะๆ ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายนค.ศ. ๑๙๑๔ กัฟริโล ปรินซิป (Gavrilo Princip) นักศึกษาชาวเซิร์บชาตินิยมซึ่งเชื่อกันว่าได้รับการสนับสนุนจากองค์กรแบล็กแฮนด์ (Black Hand) ในเซอร์เบีย ได้ลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ็กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand) มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย -ฮังการี และพระชายาด้วยการสาดกระสุนใส่รถพระที่นั่งขณะเสด็จประพาสกรุงซาราเยโวเพื่อเป็นการแก้แค้นในการเข้ายึดครองบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาของออสเตรีย -ฮังการี ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เป็นชนวนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑
     ความปราชัยของออสเตรีย -ฮังการี ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาแยกตัวออกจากจักรวรรดิและเข้ารวมกับเซอร์เบีย และชนชาติสลาฟอื่น ๆ สถาปนาราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอตและสโลวีน (Kingdomof the Serbs, Croats and Slovenes) ขึ้นเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘โดยมีพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I) แห่งราชวงศ์คาราจอร์เจวิช(Karageorgevic) เป็นประมุข อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในโดยเฉพาะระหว่างชาวเซิร์บกับชาวโครแอตทำให้พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ทรงแก้ไขปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญและยุบสภาและทรงบริหารประเทศด้วยระบอบเผด็จการ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ทรงเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย (Kingdom of Yugoslavia)ซึ่งหมายถึงประเทศของชาวสลาฟใต้
     ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อยูโกสลาเวียตกอยู่ใต้การยึดครองของเยอรมนี ชาวโครแอตได้ฉวยโอกาสจัดตั้งประเทศเป็นเอกราชเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายนค.ศ. ๑๙๔๑ และได้ผนวกบอสเนียเข้ากับรัฐเอกราชแห่งโครเอเชีย (IndependentState of Croatia) ด้วย ส่วนเฮอร์เซโกวีนาถูกอิตาลี ยึดครอง อันเต ปาเวลิช(Ante Pavelić) ผู้นำโครเอเชีย ดำเนินนโยบายสนับสนุนกลุ่มประเทศอักษะและทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) พวกยิว เซิร์บ และพวกยิปซีภายในประเทศนโยบายดังกล่าวทำให้ชาวโครแอตผู้รักชาติและชาวเซิร์บจำนวนมากเข้าร่วมในกองทัพปลดแอกแห่งชาติของยูโกสลาเวีย (Yugoslavia Army of NationalLiberation) เพื่อต่อต้านประเทศอักษะและลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) ในโครเอเชีย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียซึ่งมียอซีป บรอซ ตีโต (Josip Broz; Tito) เป็นผู้นำได้อำนาจทางการเมืองและเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนาเป็น ๑ ใน ๖ รัฐที่รวมอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียโดยประธานาธิบดีตีโตเป็นประมุข
     ประธานาธิบดีตีโตพยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติภายในประเทศด้วยการให้อำนาจบริหารตนเองแก่รัฐและมณฑลอิสระที่รวมอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐอย่างพอเพียงและดำเนินนโยบายให้ความเป็นธรรมและสร้างความสามัคคีแก่ชนเชื้อชาติต่าง ๆ ภายในประเทศอย่างเข้มแข็งจริงจัง ในทศวรรษ ๑๙๖๐ตีโตสนับสนุนชาวมุสลิมในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาให้มีบทบาทและอำนาจทางการเมืองเพื่อให้เป็นพลังกันชนระหว่างพวกเซิร์บและโครแอต นโยบายดังกล่าวทำให้ชาวสลาฟมุสลิมมีสถานภาพทางการเมืองและสังคมเท่าเทียมกับพวกเซิร์บและโครแอต ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรที่เป็น “คณะประธานาธิบดีร่วมกัน” (Collective State Presidency) โดยให้ประธานาธิบดีจากสาธารณรัฐทั้งหกและมณฑลอิสระอีก ๒ มณฑลผลัดเปลี่ยนเวียนกันรับตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศวาระละ ๑ ปี ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีตีโตถึงแก่กรรม(ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ ประธานาธิบดีตีโตได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีวิตเนื่องจากเป็นผู้พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและเพื่อตอบแทนคุณความดีที่ช่วยกู้เอกราชของประเทศในยามสงคราม) โดยเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะแก้ปัญหาเรื่องการแก่งแย่งชิงดีระหว่างชนเชื้อชาติต่าง ๆ ได้
     การสิ้นสุดของสงครามเย็น (Cold War) ใน ค.ศ. ๑๙๙๑ และการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิวัติค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolution of 1989) ได้ทำให้ปัญหาเรื่องเชื้อชาติกลายเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองในสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย ประธานาธิบดีสลอบอดาน มีโลเซวิช (Slobodan Milosevic)แห่งสาธารณรัฐเซอร์เบีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียเรียกร้องไม่ให้รัฐต่าง ๆ แยกตัวออกจากสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียและประกาศจะสร้างชาติเซอร์เบีย ใหญ่ (Greater Serbia)ด้วยการรวมชาวเซิร์บในดินแดนต่าง ๆ เข้าเป็นประเทศเดียวกัน นโยบายดังกล่าวก่อความตึงเครียดทางการเมืองในสาธารณรัฐต่าง ๆ เมื่อสาธารณรัฐโครเอเชีย และสาธารณรัฐสโลวีเนีย ประกาศแยกตัวออกจากสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๙๑ เซอร์เบีย ได้ส่งกองทัพแห่งชาติ (Serbian Federal YugoslavArmy - INA) เข้าขัดขวางแต่ล้มเหลว ในช่วงเวลาเดียวกันชาวเซิร์บในโครเอเชีย ได้เคลื่อนไหวต่อต้านการแยกตัวและเรียกร้องที่จะรวมอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียซึ่งถือเป็นประชาคมของพวกเซิร์บโดยมีสาธารณรัฐเซอร์เบีย และสาธารณรัฐมอนเตเนโกร เป็นผู้นำ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเซิร์บดังกล่าวจึงทำให้เกิดสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อขึ้นในโครเอเชีย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๙๙๑ เป็นต้นมา นอกจากนี้ ชาวเซิร์บในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาก็เริ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนชาวเซิร์บในโครเอเชีย ด้วย
     ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเมื่อวันที่ ๑๘พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๐พรรคกิจประชาธิปไตย (Party of Democratic Action) ของชาวมุสลิมได้ ๘๖ ที่นั่งพรรคประชาธิปไตยเซอร์เบีย (Serbian Democratic Party)ได้ ๗๒ ที่นั่ง และพรรคสหภาพประชาธิปไตยโครแอต (Croat Democratic Union)ได้ ๔๔ ที่นั่ง รัฐบาลผสมที่บริหารประเทศโดยเฉพาะพรรคการเมืองของชาวมุสลิมและชาวโครแอตต่างเรียกร้องให้บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาแยกตัวออกจากสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียแต่ผู้แทนชาวเซิร์บต่อต้านอย่างมาก ระหว่าง ค.ศ.๑๙๙๐-๑๙๙๑ ประเด็นการแยกตัวจึงกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองในรัฐบาลและก่อความตึงเครียดในกลุ่มประชาชน ผู้แทนชาวเซิร์บในรัฐบาลผสมจึงปฏิเสธที่จะลงนามสนับสนุน “บันทึกว่าด้วยความเป็นอธิปไตยของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา”(Memorandum on Bosnia - Herzegovinaûs Sovereignty) ที่รัฐสภาประกาศเมื่อวันที่๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ และกำหนดจะให้ประชาชนทั่วประเทศลงประชามติเกี่ยวกับบันทึกดังกล่าวในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์และวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ ตามลำดับ ชาวเซิร์บต่อต้านด้วยการจัดลงประชามติเองเมื่อวันที่ ๑๕พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๑ และร้อยละ ๙๐ สนับสนุนให้คงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียซึ่งรวมเซอร์เบีย กับมอนเตเนโกร ไว้ด้วย การต่อต้านอย่างมากของชาวเซิร์บดังกล่าว จึงทำให้การลงประชามติรับรองความเป็นเอกราชของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ เป็นการลงประชามติของชาวมุสลิมและชาวโครแอตเท่านั้นและประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนการแยกตัวออก สหรัฐอเมริกาและประเทศประชาคมยุโรป (European Community - EC) ประกาศรับรองความเป็นเอกราชและอำนาจอธิปไตยของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๒อีก ๑ เดือนต่อมา บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาก็เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ(United Nations) เมื่อวันที่ ๒๒พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๒
     อย่างไรก็ตาม การต่อต้านของชาวบอสเนียเซิร์บและการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเซอร์เบีย แห่งบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Serbian Republic of Bosnia-Herzegovina) โดยมีราดอวาน คาราจิช (Radovan Karadziซˇ c) เป็นประธานาธิบดีได้ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองอันนองเลือดระหว่างชาวบอสเนีย ๓ เชื้อชาติชาวเซิร์บซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านกำลังอาวุธจากกองทัพแห่งชาติเซอร์เบีย เริ่มโจมตีชาวมุสลิมที่กรุงซาราเยโวในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ และภายในระยะเวลาอันสั้นก็สามารถยึดครองพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศได้กว่าร้อยละ ๖๐ ชาวมุสลิมที่ขาดอาวุธในกรุงซาราเยโวถูกปิ ดล้อมจนนำไปสู่ิวกฤตการณ์ขาดอาหารและต้องขอความช่วยเหลือจากภายนอกด้วยการขนส่งทางอากาศเพียงทางเดียว ส่วนชาวมุสลิมในเมืองใกล้เคียงอื่น ๆ ก็ถูกโจมตีไม่ขาดระยะ ความเพลี่ยงพล้ำของชาวมุสลิมในการรบมีสาเหตุจากการขาดอาวุธและการที่สหประชาชาติมีมติห้ามนานาชาติขายอาวุธแก่บอสเนีย สถานการณ์ทางการเมืองเลวร้ายลงมากขึ้นเมื่อผู้นำเซอร์เบีย และโครเอเชีย เปิ ดการเจรจาลับสนับสนุนการแบ่งดินแดนบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาตามกลุ่มเชื้อชาติ ชาวโครแอตซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากโครเอเชีย จึงเริ่มทำสงครามโจมตีชาวมุสลิมด้วย สงครามจึงขยายตัวไปทั่วประเทศทั้งทวีความรุนแรงและนองเลือดมากขึ้นจนประธานาธิบดีอาลิยา อิเซตเบโกวิช(Alija Izetbegovic) ผู้นำพรรคกิจประชาธิปไตยเรียกร้องให้ประเทศตะวันตกช่วยเหลือด้วยการเข้าแทรกแซงทางทหารและเรียกร้องให้ประเทศมุสลิมทั่วโลกช่วยเหลือชีวิตชาวมุสลิมในบอสเนีย ในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ สถานการณ์ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาตึงเครียดมากขึ้นเมื่อชาวโครแอตซึ่งยึดพื้นที่ทางตอนใต้ไว้ได้ร้อยละ ๓๐ ประกาศจัดตั้ง(สหภาพ)ประชาคมโครเอเชีย แห่งเฮอร์แซก-บอสนา (Croatian Community (Union) of Herzeg-Bosna) ขึ้นทางภาคตะวันตก ของเฮอร์เซโกวีนา แม้ประธานาธิบดีอิเซตเบโกวิชจะต่อต้านการจัดตั้ง(สหภาพ)ประชาคมโครเอเชีย แห่งเฮอร์แซก-บอสนา แต่ในปลายเดือนกรกฎาคมเขาก็ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกันกับผู้นำของสาธารณรัฐโครเอเชีย ซึ่งสนับสนุนการจัดตั้งประชาคม
     สหประชาชาติพยายามหาทางยุติสงครามบอสเนีย (Bosnian War) ด้วยการส่งกองกำลังป้องกันแห่งสหประชาชาติหรืออันโพรฟอร์ (United NationsProtection Forces - UNPROFOR) เข้าไปในยูโกสลาเวียและดินแดนที่เกี่ยวข้องโดยประสานกับสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อช่วยผู้ีล้ภัย (United Nations HighCommissioner for Refugees-UNHCR) เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ีล้ภัยแต่ละฝ่ายได้ตั้งถิ่นฐานในสถานที่ที่ปลอดภัย ทั้งมีมติให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อยูโกสลาเวีย (ยกเลิกการคว่ำบาตรใน ค.ศ. ๑๙๙๖) นอกจากนี้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)ก็ส่งกองกำลังเข้าไปแก้ไขวิกฤตการณ์ในบอสเนีย และช่วยเหลือชนมุสลิมต่อสู้กับชาวเซิร์บ แต่สถานการณ์สงครามก็ไม่ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคมค.ศ. ๑๙๙๒ สหประชาชาติก็สามารถโน้มน้าวให้ผู้นำชาวเซิร์บ โครแอต และมุสลิมเปิดการเจรจาที่กรุงลอนดอน และลงนามร่วมกันในข้อตกลงหยุดยิงได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม แต่ในเวลาต่อมาก็มีการล่วงละเมิดข้อตกลงระหว่างกันครั้งแล้วครั้งเล่า ในเดือนสิงหาคม มีการเปิดเผยเรื่องค่ายกักขัง (Detention camps)จำนวนมากที่ชาวเซิร์บใช้ควบคุมชาวมุสลิมซึ่งมีจำนวนกว่า ๗๐,๐๐๐ คนอย่างทารุณเรื่องราวดังกล่าวทำให้สหประชาชาติและนานาประเทศประณามชาวเซิร์บเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และโยบาย “การล้างชาติพันธุ์” (ethnic cleansing)ของชาวเซิร์บโดยเฉพาะการกวาดล้างชนชาติือ่น ๆ เพื่อสร้างพลเมืองชาติเดียวสหประชาชาติยังได้ส่งทหารไปประจำการในบอสเนียเพิ่มมากขึ้นและกำหนดเขตห้ามบินในน่านฟ้าของบอสเนียด้วย
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๙๓ ไซรัส แวนซ์ (Cyrus Vance) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและเซอร์เดวิด โอเวน (Sir David Owen)อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษซึ่งได้รับมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติและประชาคมยุโรปให้หาทางยุติปัญหาการเมืองในบอสเนียได้เสนอแผนสันติภาพโอเวน-แวนซ์ (Owen-Vance Peace Plan) จะแบ่งบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเป็น ๑๐ จังหวัด (provinces) โดยแต่ละเขตมีอำนาจอธิปไตยของตนเองและรัฐบาลกลางจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวน้อยที่สุดยกเว้นด้านนโยบายต่างประเทศชาวเซิร์บ มุสลิม และโครแอตจะปกครองฝ่ายละ ๓ จังหวัด ส่วนอีก ๑ จังหวัดซึ่งรวมกรุงซาราเยโวไว้ด้วยจะเป็นเขตปลอดทหารและเมืองเปิดซึ่งอยู่ใต้การบริหารร่วมกันของทุกฝ่ายที่เป็นรัฐบาลกลาง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ชาวเซิร์บถอนกำลังออกจากพื้นที่ยึดครองจากร้อยละ ๗๐ ให้เหลือเพียงร้อยละ ๔๓ รวมทั้งให้มีการหยุดยิงและกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (safe area) ในส่วนที่มีชาวมุสลิมอาศัยไว้ด้วยผู้นำของบอสเนียทั้ง ๓ กลุ่มเห็นชอบกับการแบ่งพื้นที่ประเทศเป็น ๑๐ จังหวัดแต่ไม่ยอมรับข้อกำหนดอื่น ๆ ของแผนสันติภาพ สงครามและการต่อสู้ระหว่างชาวบอสเนียจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในกลาง ค.ศ. ๑๙๙๓ และยืดเยื้อจนถึง ค.ศ. ๑๙๙๕
     แม้แผนสันติภาพโอเวน-แวนซ์จะล้มเหลวในการยุติปัญหาในบอสเนีย แต่แนวทางของการแก้ไขก็เป็นพื้นฐานของการเจรจาเพื่อสันติภาพในเวลาต่อมาอีกหลายครั้ง ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ สหรัฐอเมริกาเสนอให้มีการเจรจาเพื่อสันติภาพที่เมืองเดย์ตัน (Dayton) มลรัฐโอไฮโอ (Ohio) ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน (Dayton Peace Agreement) ระหว่างผู้นำ ๓ เชื้อชาติกำหนดแนวทางการบริหารปกครองบอสเนียในรูปคณะประธานาธิบดีร่วมกันโดยหมุนเวียนกันปกครองและประธานาธิบดีอาลิยา อิเซตเบโกวิชได้รับเสียงข้างมากให้ดำรงตำแหน่งเป็นคนแรก ตลอดจนมีรัฐสภากลางที่กรุงซาราเยโว และให้แบ่งพื้นที่ของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาออกเป็น ๒ ส่วน กล่าวคือชาวโครแอตกับมุสลิมมีพื้นที่ร้อยละ ๕๑ และชาวเซิร์บมีพื้นที่ร้อยละ ๔๙ ข้อตกลงสันติภาพเดย์ตันจึงเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการสมานความสามัคคีของชาวบอสเนียทั้ง ๓ เชื้อชาติและทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติบรรเทาลง ตลอดจนนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามบอสเนียโดยปริยายในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๗
     หลังสงครามบอสเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาดำเนินการฟื้นฟูประเทศและวางพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อพัฒนาประเทศ รวมทั้งพยายามแก้ปัญหาเรื่องผู้อพยพลี้ภัยกว่า ๑ ล้านคนที่ยังคงไร้ที่อยู่อาศัยและกระจัดกระจายกันตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศอย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวก็เป็นไปอย่างล่าช้าและประสบความสำเร็จไม่มากนักทั้งมีการฉ้อฉลด้านการเงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งมีส่วนทำลายชื่อเสียงของรัฐบาล ต่อมาในค.ศ. ๒๐๐๑ศาลอาชญากรระหว่างประเทศ (International Criminal Tribunal)ขององค์การสหประชาชาติซึ่งจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๔ ที่กรุงเฮก (Hague)ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ตัดสินคดีนายพลราดิสลาฟ เดอร์สติก (Radislav Drstic)อดีตผู้นำชาวเซิร์บบอสเนียว่ามีความผิดในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวบอสเนียมุสลิมกว่า ๘,๐๐๐ คนที่เมืองซเรเบรนีตซา (Srebrenica) ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ การตัดสินคดีครั้งนี้นับเป็นการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คดีแรกของยุโรปนับตั้งแต่มีการจัดทำสนธิสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ (UN genocide treaty) ขึ้นในค.ศ. ๑๙๕๑ นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๒๐๐๑อดีตประธานาธิบดีมิโลเซวิชแห่งยูโกสลาเวียก็ถูกพิจารณาคดีด้วยข้อกล่าวหาก่ออาญชากรรมต่อมนุษยชาติด้วย
     ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ สหภาพยุโรป (European Union) ได้เข้าไปดู แลรักษาความสงบในบอสเนียอย่างเป็นทางการแทนหน่วยงานรักษาสันติภาพขององค์การนาโต และในปี เดียวกันนี้ มีการสร้างสะพานขึ้นที่เมืองโมตาร์ (Mostar) ซึ่งเป็น
     


     เมืองใหญ่ที่สุดของเฮอร์เซโกวีนาแทนสะพานเก่าที่สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔สมัยจักรวรรดิออตโตมัน ที่ถูกทำลายในช่วงระหว่างสงครามบอสเนีย สะพานที่สร้างขึ้นตามแบบเดิมนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสมานฉันท์และเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันของประเทศ เพราะเป็นสะพานที่เชื่อมร้อยเขตของโครแอตและบอสเนียเข้าด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง.
     

ชื่อทางการ
บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina)
เมืองหลวง
ซาราเยโว (Sarajevo)
เมืองสำคัญ
ซาราเยโว และมอสตาร์ (Mostar)
ระบอบการปกครอง
สหพันธ์สาธารณรัฐ (federal democratic republic)
ประมุขของประเทศ
ประธานคณะประธานาธิบดี(Chairman of the Presidency)
เนื้อที่
๕๑,๑๒๙ ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือและทิศตะวันตก : ประเทศโครเอเชีย ทิศตะวันออกและทิศตะวันออกเฉียงใต้ : ประเทศเซอร์เบียและ ประเทศมอนเตเนโกร
จำนวนประชากร
๔,๕๕๒,๑๙๘ คน (ค.ศ. ๒๐๐๗)
เชื้อชาติของประชากร
บอสนิแอก (Bosniak - ชาวบอสเนียที่เป็นมุสลิม) ร้อยละ ๔๘ เซิร์บร้อยละ ๓๗.๑ โครแอตร้อยละ ๑๔.๓ และอื่น ๆ ร้อยละ ๐.๖
ภาษา
บอสเนีย โครแอต และเซอร์เบีย
ศาสนา
อิสลามร้อยละ ๔๐ คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๓๐ คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ ๑๕ และอื่น ๆ ร้อยละ ๑๔
เงินตรา
มาร์ค (marka)
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
เพ็ญศรี ดุ๊ก
แหล่งอ้างอิง
สารานุกรมทวีปยุโรป